ผลงานบริษัทฯ

วิธีการปฏิบัติงานการป้องกันและกำจัดหนู

การสำรวจร่องรอยของหนู มีความสำคัญและจำเป็นต่อการป้องกันและกำจัดหนูเพราะช่วยให้ทราบว่ามีหนูอยู่บริเวณนั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และเป็นชนิดใด ร่องรอยหนูที่สำรวจพบร่วมกับการพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะเป็นตัวบ่งบอกถึงแหล่งที่อยู่อาศัย ทางเข้า-ออก และเส้นทางหาอาหาร ของหนูในพื้นที่นั้นๆ

  • รอยกัดแทะ
  • โพรงหรือรูหนู
  • รอยทางเดิน
  • มูลหนู
  • ลักษณะอื่นๆ ที่อาจเป็นร่องรอยบอกว่ามีหนูอยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ ได้แก่ เสียงร้อง เสียงวิ่ง กลิ่นสาบ ซากหนู รอยเท้าหนู เป็นต้น

การป้องกันกำจัดหนู

การป้องกันกำจัดหนู ต้องดำเนินการไม่ให้มีหนูหรือมีหนูเหลือจำนวนน้อยที่สุดตามเป้าหมาย ซึ่งวิธีการควบคุมกำจัดหนูนั้น มีหลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียที่ได้ผลจะมีหลายวิธีตามความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ ควรได้รับความร่วมมือจากผู้ที่รับผิดชอบของสถานที่ เช่น ด้านสุขอนามัย สภาพแวดล้อม หรือช่องทางเข้าออกของหนูนั้น การกำจัดหนูจะดำเนินการใช้การป้องกันกำจัดหนูตามความเหมาะสมได้ ซึ่งแบ่งการป้องกันกำจัดหนูเป็น 3 ด่าน ดังนี้

  • ด่านที่ 1 แนวกำแพงรอบพื้นที่ ใช้การวางเหยื่อพิษ หรือการวางกรง เพื่อตรวจสอบการระบาดของหนู
  • ด่านที่ 2 พื้นที่ภายนอกอาคารและแนวรอบอาคาร ใช้การวางเหยื่อพิษหรือการวางกรง
  • ด่านที่ 3 พื้นที่ภายในอาคาร ใช้การวางกระดานกาวและกรง

ขั้นตอนการวางกรง

  • วางกรงในบริเวณที่หนูมาหาอาหาร ทางเดินของหนู โดยวางชิดกับผนัง หรือวางซ่อนตามกองอาหาร
  • แขวนเหยื่อหรืออาหารล่อไว้ภายในกรง
  • ทดสอบการตีปิดของกรง
  • วาดแผนผังอย่างง่ายๆ ระบุตำแหน่งที่วางลงในแผนผังทุกครั้ง

ขั้นตอนการวางกระดานกาว

  • กำหนดตำแหน่งการวางกระดานกาว ตามบริเวณที่พบปัญหา
  • วางกระดานพร้อมอาหารล่อในบริเวณที่กำหนด
  • วาดแผนผังอย่างง่ายๆ ระบุตำแหน่งที่วางลงในแผนผังทุกครั้ง

ขั้นตอนการวางเหยื่อพิษ

  • กำหนดตำแหน่งการวางกล่องเหยื่อพิษลงในแผนผังหลังการสำรวจพื้นที่ (rodent bait station layout)
  • ระบุหมายเลขกำกับตำแหน่งการวางเหยื่อพิษแต่ละตำแหน่ง และบันทึกตำแหน่งหมายเลขที่กำหนดลงในแผนผัง
  • จัดส่งแผนผังแสดงตำแหน่งการวางกล่องเหยื่อพิษ พร้อมระบุ วันที่ และผู้จัดทำ ให้ลูกค้าที่รับบริการพิจารณา พร้อมทั้งลงนามรับทราบ
  • ทำการติดตั้งอุปกรณ์วางเหยื่อพิษตามจุดที่กำหนด
  • วางเหยื่อพิษลงในช่องใส่เหยื่อพิษภายในกล่องเหยื่อพิษ
  • นำสายรัดหรือห่วงมาร้อยตามรูที่เจาะไว้ที่ฝาและตัวกล่อง เพื่อให้ยึดติดกัน
  • ตัดปลายสายล็อกที่เกินออก เพื่อความเรียบร้อยและสวยงาม

หนู (Rodent)

หนูเป็นศัตรูที่สำคัญของมนุษย์ หนูทำลายพืชผล นำความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายทางตรงที่เด่นชัดคือ การกัดแทะพืชผลที่ปลูกในไร่นา ตลอดจนการปนเปื้อนในขณะเก็บรักษา ขนส่ง และการแปรรูปผลิตผล จนถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภคของมนุษย์ยังถูกหนูกัดแทะทำลายอีกด้วย นอกจากนี้หนูยังเป็นสัตว์พาหะนำโรคหลายชนิดสู่คนและสัตว์เลี้ยง โดยการแพร่กระจายเชื้อโรคจาก ปัสสาวะ น้ำลาย ขน และมูลหนู เช่น โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) โรคไข้หนู (Murine Thyphus, Scrub Thyphus) กาฬโรค (Plaque) โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ส่วนความเสียหายทางอ้อม มักเกิดจากการกัดแทะเพื่อลับฟันของหนูต่อสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ของใช้ต่างๆ สายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในอาคาร ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ รวมทั้งการขุดรูอาศัยภายใต้อาคาร ตามคันดิน หรือในท่อระบายน้ำ ทำให้พื้นอาคารทรุด เกิดการอุดตันในท่อระบายน้ำ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในปีหนึ่งๆ

ชนิดของหนูที่เป็นศัตรูที่สำคัญ สามารถแบ่งตามแหล่งที่อยู่อาศัยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • หนูป่าหรือหนูนา (Wild or Field Rodents) หนูเหล่านี้พบในธรรมชาติ สภาพพื้นที่ป่า ทุ่งหญ้าหรือตามแหล่งที่มีการปลูกพืช กินเมล็ดพืช ผลของพืช แมลง หอย ปู ฯลฯ เป็นอาหาร หลายชนิดขุดรูอาศัยอยู่ในดิน เช่น หนูในสกุลหนูพุก (Bandicota spp.) หนูสกุลท้องขาว (Rattus spp.) บางชนิดอาศัยอยู่ในรังนกเก่าๆ หรือในโพรงไม้หรือบนต้นไม้ เช่น หนูมือลิง หนูสกุลท้องขาว (Rattus spp.)
  • หนูบ้านหรือหนูในแหล่งชุมชนหรือหนูในเมือง (Commensal or Domestic Rodents) เป็นหนูที่พบอาศัยอยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุดในแหล่งชุมชนหรือในเมือง กินอาหารเกือบทุกชนิดที่มนุษย์กินได้และเหลือทิ้ง หนูเหล่านี้ชอบกัดแทะทำลายสิ่งของ และเป็นตัวการสำคัญในการถ่ายทอดเชื้อโรคมาสู่มนุษย์ ในประเทศไทยหนูที่เป็นศัตรูในเขตเมืองหรือแหล่งชุมชนต่างๆ มีชนิดที่สำคัญดังนี้
    • 1. หนูนอรเวย์ (Norway rat, Brown rat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus norvegicus (Berkenhout) มีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 200-500 กรัม หนูชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น หนูท่อ หนูขยะ หนูขี้เรื้อน ตามลำตัวสีเทาเข้มและหลุดเป็นหย่อมๆ คล้ายเป็นขี้เรื้อน ขนด้านท้องสีเทา หน้าทู่ มีตาและใบหูเล็ก หางสั้นกว่าหัวและลำตัวรวมกัน ขนบนหลังเท้าสีขาว เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ที่อก และ 3 คู่ที่ท้อง ปกติชอบขุดรูอาศัยในดินตามกองขยะ ตลาด ตามที่ทิ้งเศษอาหาร ริมคลองแหล่งสกปรก ท่อระบายน้ำ ตัวเต็มวัยอายุ 120 วันขึ้นไป ระยะตั้งท้อง 21-23 วัน ออกลูกปีละ 6-8 ครอก ครอกละ 4-12 ตัว
    • 2.หนูท้องขาวบ้าน (Roof rat, Black rat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus rattus (Linnaeus) เป็นหนูขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 90-250 กรัม ปีนป่ายเก่งมาก ปกติสีขนด้านหลังเป็นสีน้ำตาลและกลางหลังมีขนแข็งสีดำแทรกอยู่ ขนด้านท้องสีขาวครีม หน้าค่อนข้างแหลม ใบหูใหญ่ ตาโต ความยาวของหางมากกว่าความยาวของหัวรวมกับตัว เพศเมียมีเต้านม 2 คู่ที่อก และ 3 คู่ที่ท้องปีนป่ายเก่งมาก อาศัยตามเพดานของบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ยุ้งฉาง โคนต้นไม้หรือทำรังบนต้นไม้ ตัวเต็มวัยอายุ 60 วันขึ้นไป ระยะตั้งท้อง 21-23 วัน ออกลูกปีละ 2-6 ครอก ครอกละ 1-9 ตัว
    • 3. หนูจี๊ด (Polynesian rat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus exulans (Peal) เป็นหนูขนาดเล็ก น้ำหนักตัวประมาณ 27-60 กรัม ลักษณะเด่นคือ หางยาวมากกว่าหัวและลำตัวรวมกัน ตาโต ใบหูใหญ่ ขนด้านหลังมีสีน้ำตาลแก่ ขนด้านท้องสีเทา ตัว เพศเมียมีเต้านม 2 คู่ที่อก และ 2 คู่ที่ท้อง ชอบอาศัยในที่แห้งตามบ้านเรือน โดยเฉพาะในห้องครัว ห้องเก็บของ ในตู้ ลิ้นชักตู้และตามโรงเก็บ ตัวเต็มวัย เพศผู้อายุ 79 วัน เพศเมียอายุ 38 วันขึ้นไป ระยะตั้งท้อง 20-23 วัน ออกลูกปีละ 3-8 ครอก ครอกละ 3-7 ตัว
    • 4. หนูหริ่งบ้าน (House mouse) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mus musculus (Linnaeus) เป็นหนูบ้านที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักตัวประมาณ 14-21 กรัม ลักษณะหน้าแหลม ใบหูใหญ่ ตาเล็ก มีหางยาว เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ที่อก และ 2 คู่ที่ท้อง ออกลูกประมาณปีละ 8 ครอก ครอกละ 5-6 ตัวหนูชนิดนี้เป็นปัญหามากในบ้านเรือนและโกดังเก็บสินค้า


ข่าวสารบริษัทฯ

คลิปกำจัดปลวก

เอกสารบริษัท